น้ำตกห้วยยาง ทับสะแก น้ำตกห้วยยาง (Namtok Huai Yang)
อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก และอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในส่วนที่แคบที่สุดของประเทศ ซึ่งได้รวมจุดเด่นรอบๆ วนอุทยานน้ำตกห้วยยางผนวกเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่ น้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนมีสัตว์ป่านานาชนิด เป็นอุทยานแห่งชาติที่พร้อมด้วยป่าเขา น้ำตก ชายหาด รวมมี เนื้อที่ประมาณ 100,625 ไร่ หรือ 161 ตารางกิโลเมตร ในปี 2530 กรมป่าไม้ได้รับแจ้งจากสำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรีตามหนังสือ ที่ กษ 0714 (พบ)/825 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 แจ้งว่า ได้รับหนังสือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ ปจ 0009/940 ลงวันที่ 16 มกราคม 2530 ส่ง รายงานการตรวจดูแลป่าสงวนแห่งชาติของสำนักงานป่าไม้อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับสะแก มีน้ำตกที่สวยงาม 2 แห่ง สมควรจัดตั้งเป็นวนอุทยาน สำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรีจึงได้ให้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ปจ.3 (ทับสะแก) ออกไปสำรวจข้อมูลรายละเอียดแล้ว ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำตกขาอ่อน (ทับมอญ) และน้ำตกห้วยหินดาดเหมาะสมจัดตั้งเป็นวนอุทยานเพื่อรักษาสภาพป่าไม้และต้นน้ำลำธารอันสวยงามนี้ไว้ ซึ่ง นายธำมรงค์ ประกอบบุญ ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2530 เสนอกรมป่าไม้เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองรักษาต้นน้ำลำธารนี้ไว้ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ 0713/1673 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2530 ให้ นายสินธุ์ มะลิวัลย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 4 หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกห้วยยาง ทำการสำรวจเบื้องต้นบริเวณน้ำตกทั้ง 2 แห่ง ผลการสำรวจตามหนังสือวนอุทยานน้ำตกห้วยยาง ที่ กษ 0713(หย)/161 ลงวันที่ 14 กันยายน 2530 เห็นควรผนวกป่าและน้ำตกทั้ง 2 แห่ง เข้ากับวนอุทยานน้ำตกห้วยยาง จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ ยืนนานต่อไป ต่อมากองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ0713/2613 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2531 ให้ วนอุทยานน้ำตกห้วยยางสำรวจพื้นที่หาดวนกรเพื่อผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย ตามคำแนะนำของ นายกษม รัตนไชย ผู้ช่วยป่าไม้เขตเพชรบุรี ผลการสำรวจตามหนังสือวนอุทยานที่ กษ 0713(หย)/148 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 เห็นควรผนวกป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง (หาดวนกร) เข้ากับพื้นที่ทั้งหมดจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเช่นกัน จากการไปตรวจราชการในท้องที่สำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรีของ นายยุกติ สาริกะภูติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2531 - 2 มกราคม 2532 ได้สั่งการให้รวมพื้นที่บริเวณหาดวนกรเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติ และในการประชุมผู้อำนวยการกองในสังกัดกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2532 ได้พิจารณาให้ผนวกพื้นที่ป่าห้วยยางและสวนป่าห้วยยาง (พื้นที่ติดต่อกับหาดวนกร) เป็นอุทยานแห่งชาติด้วย กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ดำเนินการผนวกบริเวณพื้นที่ป่าน้ำตกขาอ่อน น้ำตกห้วยหินดาษ และวนอุทยานน้ำตกห้วยยางในป่าทับสะแก ท้องที่ตำบลธงไชย อำเภอบางสะพาน ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และป่าวังด้วน ป่าห้วยยาง ท้องที่ตำบลห้วยทราย อำเภอเมือง และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ ทั้งหมดประมาณ 124,300 ไร่ หรือ 198.88 ตารางกิโลเมตร (ทั้งนี้รวมที่เป็นพื้นน้ำด้วย 15.36 ตารางกิโลเมตร) ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต่อมากองอุทยานแห่งชาติมีความเห็นว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยางซึ่งมีบริเวณน้ำตกขาอ่อน น้ำตกห้วยหินดาษ และวนอุทยานน้ำตกห้วยยางมีพื้นที่เชื่อมติดต่อกันโดยตลอด ส่วนบริเวณป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง (หาดวนกร) มีพื้นที่ไม่ติดต่อกัน เพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาและควบคุม จึงให้แยกเป็น 2 อุทยานแห่งชาติ คืออุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง และอุทยานแห่งชาติหาดวนกร เพื่อคุ้มครองรักษาต้นน้ำลำธารไว้และอนุรักษ์ทรัพยากรให้ยืนนานต่อไป ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว ประกอบด้วยพื้นที่ทั้งหมด 100,625 ไร่ โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าทับสะแก ในท้องที่ตำบลห้วยยาง ตำบลเขาล้าน ตำบลแสงอรุณ ตำบลนาหูกวาง ตำบลอ่างทอง อำเภอทับสะแก และตำบลชัยเกษม อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 70 ของประเทศไทย
ขนาดพื้นที่
100625.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ หย.1 (น้ำตกเขาล้าน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ หย.2 (น้ำตกขาอ่อน)
|